ขิด

Silk2.jpg
การขิดเป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสาน หมายถึง สะกิดหรืองัดช้อนขึ้น ดังนั้นการทอ ผ้าขิดจึงหมายถึงกรรมวิธีการทอที่ผู้ทอใช้ไม้ เรียกว่า “ไม้เก็บขิด” สะกิดหรือช้อนเส้นยืนยกขึ้นเป็นช่วงระยะตามลวดลายตลอดหน้าผ้า แล้วพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษและเส้นพุ่งเข้าไปตลอดแนว ทำให้เกิดเป็นลวดลายยกตัวนูนบนผืนผ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายซ้ำๆ ตลอดแนวผ้า โดยสีของลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นสีของด้ายพุ่งพิเศษ
ผ้าขิดมีการทอในหลายพื้นที่ ลวดลาย สีสัน และการใช้งานแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น กลุ่มชาวภูไท ไทลาว และไทกูยหรือส่วยเขมร ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มไทยวนและไทลื้อ ในภาคกลาง เช่น กลุ่มไทครั่งหรือลาวครั่ง และในภาคใต้ที่บ้านนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง
ในชาวอีสานโดยทั่วไป นิยมทอผ้าขิดด้วยฝ้ายเพื่อใช้ทำหมอน โดยลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ เช่น ลายหอปราสาทหรือธรรมาสน์ ลายพญานาค ลายช้าง ลายม้า ลายดอกแก้ว เป็นต้น ลวดลายขิดจะอยู่บริเวณส่วนกลางของตัวหมอน ส่วนหน้าหมอนนั้น นิยมเย็บปิดด้วยผ้าฝ้ายสีแดง
ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ มีการทอทั้งหมอนขิด ขิดหัวซิ่น ขิดตีนซิ่น สไบลายขิด และผ้าขาวม้าไหมเชิงขิด โดยส่วนใหญ่นิยมใช้เส้นไหมทอมากกว่าฝ้าย

อ้างอิง